You are currently viewing Covid19

Covid19

อดีต รมว.สธ. เตือนคนไทยอย่าตื่นตระหนก Coronavirus
แต่ให้เรียนรู้วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัส

อดีต รมว.สธ. เตือนคนไทยอย่าตื่นตระหนก ไวรัสโคโรนา แต่ให้เรียนรู้วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัส

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานมูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ Wuhan Coronavirus ว่าจากประสบการณ์ที่เคยต่อสู้กับไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเมื่อหลายปีที่ผ่านมานั้น ตนหวังว่ามาตรการควบคุมโรคของรัฐบาลจีนและรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบันที่มีมาตรฐานดีขึ้นกว่าเดิมมาก น่าจะช่วยสกัดกั้นไม่ให้การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสตัวนี้ขยายตัวความรุนแรงไปสู่ขั้นวิกฤติทั่วโลกได้

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล อธิบายว่า Coronavirus มีอยู่ 7 สายพันธุ์ คือ Alpha Coronavirus 229E, Alpha Coronavirus NL63, Beta Coronavirus CO43, Beta Coronavirus HKU1, Beta Coronavirus MERS – CoV, Beta Coronavirus SARS – CoV, และที่แพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบันคือ Novel Coronavirus 2019 – nCoV

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล กล่าวว่าปัจจุบันความรู้เรื่อง Novel Coronavirus (2019 – nCoV) ยังไม่ตกผลึก ไม่มียา และวัคซีนที่สามารถใช้รักษาและป้องกันโรคนี้ได้ ดังนั้น วิธีต่อสู้กับไวรัสตัวนี้ ก็คือจะต้องใช้มาตรการและเครือข่ายในการตัดวงจรชีวิตของมัน หากไวรัสตัวนี้กลายพันธุ์ ก็จะทวีการแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว และรุนแรงมาก โดยตัวอย่างในอดีตนั้นเคยมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ Spanish Flu ที่รุนแรงมากในปี พ.ศ. 2461 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 30 ล้านคน และการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ Hong Kong Flu ที่มีผู้เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2511 ประมาณ 2 ล้านคน

จากรายงานข้อมูลเมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ Wuhan Coronavirus (2019 – nCoV) มีประมาณ 2 – 3% เปรียบเทียบกับอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก (H5 N1) ที่เคยมีประมาณ 60% อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ Coronavirus MERS ที่เคยมีประมาณ 35% อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ Coronavirus SARS ที่เคยมีประมาณ 10% และอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Influenza) ที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ปีโดยเฉลี่ย 0.1 – 2.5% แต่ที่น่ากลัวก็คือเชื้อไวรัส Coronavirus (2019 – nCoV) ตัวนี้ มีอัตราการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น 1.5 – 3.3 คน ต่อผู้ป่วย 1 คน เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Influenza) ที่มีอัตราการติดเชื้อไปสู่ผู้อื่น 1.3 คน ต่อผู้ป่วย 1 คน

จากรายงานสถิติล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ติดเชื้อ Novel Coronavirus (2019 – nCoV) ทั่วโลกประมาณ 19,810 คน และมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 426 คน ภายในห้วงเวลาเพียงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอุบัติการณ์ที่น่าวิตกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการแพร่ระบาดของ Coronavirus SARS – CoV ที่มีผู้ติดเชื้อ 8,098 คน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 774 คน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545 – เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2546

ณ ปัจจุบันรัฐบาลจีนและองค์การอนามัยโลกยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้จะรุนแรงไปถึงขั้นใด แต่ผู้เชี่ยวชาญและคณะวิจัยไวรัสวิทยาในฮ่องกงพยากรณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และน่าจะถึงจุดสูงสุดในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 จากนั้นความสัมฤทธิ์ผลของมาตรการควบคุมโรค จะมีผลให้ระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดลดลงในลักษณะของเส้นกราฟรูปทรงระฆังคว่ำ แต่ถ้ามาตรการควบคุมโรคล้มเหลวการแพร่ระบาดจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรงถึงขั้นวิกฤติในภูมิภาคทวีป หรือทั่วโลก

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล กล่าวว่าโลกปัจจุบันเป็นสังคม IT ที่มีข้อมูลข่าวสารอยู่ทั่วไปทุกหัวระแหงข้อมูลบางอย่างเป็นเพียงข่าวลือเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือเพื่อความตื่นเต้น ทำให้เกิดกระแสตื่นตระหนก มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ฉะนั้นประชาชนทุกคนควรให้ความสนใจกับความรู้เบื้องต้น และคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันเชื้อไวรัสตัวนี้ รวมทั้งพึงสังวรถึงอันตรายของไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Influenza) ที่มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 4 แสนคน ในทุก ๆ ปีด้วย

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล เชื่อว่าแพทย์และพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตัวนี้ โดยได้ให้ข้อแนะนำในการดำเนินมาตรการป้องกันและรักษาโรคไว้ดังนี้

  1. รัฐบาลไทยควรให้ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศอื่น ๆ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Wuhan Coronavirus (2019 – nCoV) ภายใต้ผลประโยชน์แห่งชาติไทย
  2. จัดตั้งวอร์รูมสกัดไว้รัสในระดับนานาชาติ โดยร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและยุทธศาสตร์การป้องกันโรคฯ ในลักษณะเดียวกับที่ตนเคยทำไว้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัสไข้หวัดนก และเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2548 ร่วมกับ Dr. Lee Jong Wook ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และ Mr. Michael O. Leavitte รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ รวม 12 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ บรูไน ภูฏาน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในครั้งนั้นมีพื้นที่ครอบคลุมภูมิภาค Asia Pacific แต่ในครั้งนี้อาจกระชับลงมาเป็นภูมิภาค Southeast Asia ก็ได้
  3. ประชาสัมพันธ์ความรู้เบื้องต้นและข้อปฏิบัติในการป้องกันเชื้อไวรัสฯ ผ่านสื่อต่าง ๆ และเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคฯ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปไม่ตื่นตระหนก และได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง
  4. พัฒนาการประสิทธิภาพของห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อไวรัสฯ ของโรงพยาบาลระดับจังหวัดทุกแห่ง ให้มีขีดความสามารถรายงานผลการตรวจชันสูตรได้อย่างถูกต้องแม่นยำภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับสิ่งส่งตรวจฯ ตามแนวทางที่ตนได้เคยนำร่องการพัฒนาศักยภาพของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในภูมิภาคต่าง ๆ รวม 6 แห่ง (เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา) เมื่อปี พ.ศ. 2548
  5. กรณีผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วยมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่ชนบทที่ห่างไกลในระดับอำเภอ – ตำบล – หมู่บ้าน ให้รีบส่งตัวไปอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของโรงพยาบาลศูนย์ฯ หรือโรงพยาบาลทั่วไปในระดับจังหวัด รวมทั้งจัดเตรียมยาต้านไวรัสให้เพียงพอที่จะแจกจ่ายไปให้โรงพยาบาลชุมชนในระดับอำเภอ และโรงพยาบาลทั่วไปในระดับจังหวัดทุกแห่งที่มีอุบัติการณ์ของโรค

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
อาจารย์ที่ปรึกษา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช
ประธานมูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com