You are currently viewing Novel Coronavirus

Novel Coronavirus

“…ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเมืองจีนจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และคาดว่าจะถึงขีดสูงสุดในช่วงปลายเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤษภาคมนี้…”

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล อดีตรอง นรม. และ รมว.สธ.ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาสาขาวิชาโรคระบบการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวถึงความคืบหน้าในการวิจัยเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ( Novel Coronavirus 2019 – nCoV ) ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของสถาบันวิจัยในเอเซีย สหรัฐอเมริกา และยุโรป   แต่อุบัติการณ์ของเชื้อไวรัสตัวนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 เดือน ที่ผ่านมา การศึกษาค้นคว้าจึงเป็นเพียงก้าวแรกและต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะสรุปองค์ความรู้ได้ในระดับหนึ่ง   โดยส่วนตัวตนให้เครดิตกับความรู้ความสามารถของแพทย์และคณะวิจัยฯ ในมหาวิทยาลัยโตเกียว, มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีคุณภาพเป็นอันดับที่ 1 – 3 ของเอเซีย และอยู่ในอันดับที่ 

1 – 50 ของโลก   โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงและมหาวิทยาลัยปักกิ่งที่เป็นผู้ค้นพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Beta Coronavirus SARS – CoV เป็นครั้งแรกในโลกในห้วงเวลาเกือบจะพร้อม ๆ กัน เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2546   

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล กล่าวว่าล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Centers of Disease Control and Prevention ( CDC ) ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา สามารถผลิตชุดตรวจเชื้อไวรัส ( Laboratory Test Kit for 2019 – nCoV ) ที่สามารถนำไปใช้ตรวจเชื้อไวรัสตัวนี้ได้ง่ายและสะดวกขึ้น สามารถทำการตรวจเชื้อได้ง่ายขึ้นในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วไป แต่ในวันนี้ Test Kit ดังกล่าวยังไม่แพร่หลาย มีการนำไปใช้ประโยชน์เพียงภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น   อย่างไรก็ดีในปัจจุบันที่องค์ความรู้เกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ยังไม่ตกผลึก จึงไม่มียาและวัคซีนใดที่สามารถใช้รักษาและป้องกันโรคได้   วิธีต่อสู้กับไวรัสตัวนี้ก็คือจะต้องใช้มาตรการและเครือข่ายในการตัดวงจรชีวิตของมัน   ฉะนั้นรัฐบาลจีนและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ จึงตอกย้ำความสำคัญของยุทธศาสตร์การป้องกันโรคฯ   โดยส่วนตัวตนหวังว่ามาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นและมาตรฐานของการสาธารณสุขทั่วโลกที่มีคุณภาพดีขึ้นมากในยุคศตวรรษที่ 21 น่าจะช่วยสกัดกั้นไม่ให้เชื้อไวรัสตัวนี้แพร่ระบาด

รุนแรงไปสู่ขั้นวิกฤติได้

เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดฯ ล่าสุดในประเทศจีน เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศ.นพ. Gabriel M. Leung และคณะวิจัยฯ ของ Li Ka Shing Faculty of Medicine, University of Hong Kong รายงานว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ( Novel Coronavirus 2019 – nCoV ) ได้แพร่ระบาดเข้าไปในเมืองมหานครขนาดใหญ่ เช่นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น และฉงชิ่งแล้วตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา   ศ.นพ. Leung ประเมินว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสตัวนี้ในสาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และน่าจะถึงจุดสูงสุดในช่วงปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งอาจมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 1.5 แสนคนขึ้นไป   แต่ถ้ามาตรการของรัฐบาลจีนสัมฤทธิ์ผล สามารถลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ 25% จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.5 – 3.3 คน ต่อผู้ป่วย 

1 คน ก็จะเป็นผลดีต่อการควบคุมโรค และถ้าการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นลดลงไป 50% จากปัจจุบัน ก็จะมีผลให้ระดับ

ความรุนแรงของการแพร่ระบาดลดลงในลักษณะของเส้นกราฟรูปทรงระฆังคว่ำ   แต่ถ้ามาตรการควบคุมโรคล้มเหลว การแพร่ระบาดจะพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องและอาจรุนแรงไปถึงขั้นวิกฤติ   ในประเด็นของสถานการณ์ปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชากรฮ่องกงนั้น ศ.นพ. Leung และคณะวิจัยฯ ได้แนะนำให้รัฐบาลฮ่องกงใช้มาตรการควบคุมโรคในระดับเข้มข้น รวมทั้งห้ามคนจีนจากเมือง Wuhan และ Hubei ข้ามแดนเข้าฮ่องกง แต่ยังไม่จำเป็นต้องถึงขั้นปิดด่านห้ามคนจีนแผ่นดินใหญ่ทุกคนเข้า – ออกดินแดนฮ่องกง ซึ่งในอดีต 20 ปีที่ผ่านมาในสถานการณ์โรค SARS, ไข้หวัดนก, และไข้หวัดหมูฯ รัฐบาลฮ่องกงก็ไม่เคยใช้มาตรการดังกล่าว

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล อธิบายว่าผลการวิจัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยาและโรคระบบการหายใจระดับโลกในช่วงก้าวแรกของการศึกษาฯ มักจะมีทัศนะหลากหลาย ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ ศ.นพ. N.S. Zhong อุรแพทย์และนักระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแพทย์กวางโจว ได้ประเมินสถานการณ์ไว้ว่าผู้ติดเชื้อไวรัส Novel Coronavirus (  2019 – nCoV ) ในสาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีจำนวนสูงสุดภายใน 7 – 10 วันข้างหน้านี้   จากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อฯ จะลดลงตามลำดับ   ศ.นพ. Zhong เชื่อว่ามาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นและเด็ดขาดของรัฐบาลจีนจะช่วยแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดฯ ไม่ให้เข้าไปสู่ภาวะวิกฤติได้   ศ.นพ. Zhong เป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้ค้นพบเชื้อไวรัส Beta Corona SARS – CoV ระลอกแรกของโลก, เคยเป็นนายกสมาคมอุรแพทย์จีน, เคยเป็นนายกสมาคมแพทย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, และล่าสุดรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษาการวางยุทธศาสคร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในภาวะวิกฤติ 

( ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล เคยเป็นวิทยากรผู้บรรยายในการประชุมวิชาการเรื่องโรคปอดติดเชื้อฯ ใน Symposium เดียวกับ ศ.นพ. Zhong ที่ Nippon Toshi Center กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2531 ) 

ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญในประเทศตะวันตก Mike Ryan โฆษกองค์การอนามัยโลก ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าผู้เชี่ยวชาญ WHO หลายคนมีความเห็นว่า ณ ปัจจุบันยังไม่ถึงเวลาที่จะด่วนประเมินจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคปอดจากไวรัสตัวนี้   Michael Osterholm ผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยา มหาวิทยาลัย Minnesota และ Robin Thompson นักสถิติระบาดวิทยา มหาวิทยาลัย Oxford ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าการพยากรณ์ห้วงเวลาและจำนวนผู้ติดเชื้อฯ มากที่สุดในสาธารณรัฐประชาชนจีนของ ศ.นพ. Lueng แห่ง University of Hong Kong และของ ศ.นพ. Zhong แห่ง Guangzhou Medical University นั้น ยังเชื่อถือไม่ได้   กลุ่มข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์ยังมีข้อบกพร่องหลายประเด็น ซึ่งน่าจะเป็นผลให้การพยากรณ์ดังกล่าวมีโอกาสผิดพลาดสูงมาก 

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 มีรายงานจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ 32 รายซึ่งในจำนวนนี้ต้องอยู่ในโรงพยาบาล 22 ราย และให้กลับบ้านได้แล้ว 10 ราย   มีผู้อยู่ในเกณฑ์ต้องเผ้าระวังสะสม 654 ราย คัดกรองจากสนามบิน 49 ราย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 605 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว279 ราย และยังคงต้องอยู่ในโรงพยาบาล 375 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ต้องตรวจเชื้อไว้รัสซ้ำอีกครั้ง 39 ราย   ณ ปัจจุบันยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไว้รัสตัวนี้

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล ให้ข้อสังเกตุว่าสถานการณ์ของโรคในประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นแพร่ระบาด แต่ก็ไม่ควรประมาทเป็นอย่างยิ่ง   ประเด็นที่อาจจะต้องกังวลอยู่บ้างก็คือ อาจมีผู้ติดเชื้อไวรัสตัวนี้ที่ยังไม่มีอาการบ่งบอก   แต่ผ่านการคัดกรองโดย Thermoscan   หากมีคนกลุ่มนี้หลงเหลืออยู่จริง ก็จะเป็นอันตรายต่อการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น     อุปมาดั่งภูเขาน้ำแข็งใต้ทะเลที่นักเดินเรือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า  ฉะนั้นการเรียนรู้วิธีป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสตัวนี้จึงเป็นการรักษาความปลอดภัยให้แก่ตนเองได้ดีที่สุด   

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล แนะนำว่าประชาชนทุกคนควรให้ความสนใจกับความรู้เบื้องต้นและคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสตัวนี้   รวมทั้งขอให้มั่นใจในข้อมูลข่าวสารภาครัฐที่อาจไม่รวดเร็วทันใจเหมือนข่าวสาร Digital   แต่ข่าวสารในภาครัฐซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องเสียก่อนที่จะเผยแพร่ไปให้ประชาชนได้รับทราบนั้น จะป็นข้อมูลที่มีความแม่นยำและนำไปอ้างอิงได้

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล เชื่อว่าแพทย์และพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Novel Coronavirus (  2019 – nCoV ) ที่อาจเกิดขึ้นได้   โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งมีคุณภาพค่อนข้างสูงมาก   โดยทัศนะส่วนตัวตนอยากให้ประชาชนพึงสังวรถึงอันตรายของไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ( Influenza ) ที่มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณปีละ 4 แสนคน ในทุก ๆ ปีด้วย

ในประเด็นที่เกี่ยวกับการวางยุทธศาสตร์การป้องกันและรักษาโรคปอดติดเชื้อไวรัสตัวนี้   ศ.นพ.สุชัยเจริญรัตนกุล ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ดังนี้ :

1. รัฐบาลไทยควรให้ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศอื่น ๆ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของ Novel Coronavirus ( 2019 – nCoV ) ภายใต้ผลประโยชน์ของชาติไทย   การกำหนดมาตรการควบคุมโรคควรมี 2 ระดับ คือ ระดับมาตรการทั่วไปในภาวะฉุกเฉินของ WHO และ ระดับ  มาตรการเข้มข้นเด็ดขาดในภาวะวิกฤติ

2. จัดตั้งวอร์รูมสะกัดไวรัสตัวนี้ในระดับนานาชาติ  โดยร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและยุทธศาสตร์การป้องกันโรคฯ ในลักษณะเดียวกับที่ตนเคยทำไว้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก และเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2548 ร่วมกับ Dr. Lee Jong Wook ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และ Mr. Michael O. Leavitte รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา  โดยเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ รวม 12 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ บรูไน ภูฐาน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในครั้งนั้นมีพื้นที่ครอบคลุมภูมิภาค Asia Pacific   แต่ในครั้งนี้อาจกระชับลงมาเป็นภูมิภาค Southeast Asia ก็ได้

3. ประชาสัมพันธ์ความรู้เบื้องต้นและข้อปฏิบัติในการป้องกันเชื้อไวรัสฯ ผ่านสื่อต่าง ๆ และเว็ปไซด์กระทรวงสาธารณสุข   รวมทั้งเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคฯ เพื่อให้ ประชาชนทั่วไปไม่ตื่นตระหนก และได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง

4. พัฒนาประสิทธิภาพของห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อไวรัสฯ ของโรงพยาบาลระดับจังหวัดทุกแห่งให้มีขีดความสามารถรายงานผลการตรวจชันสูตรได้ถูกต้องแม่นยำภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับสิ่งส่งตรวจฯตามแนวทางที่ตนได้เคยนำร่องการพัฒนาศักยภาพของศูนย์วิทยาศาสคร์การแพทย์ในภูมิภาคต่าง ๆ รวม 6 แห่ง  ( เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา ) เมื่อปี พ.ศ. 2548 5. กรณีผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วยมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่ชนบทที่ห่างไกลในระดับอำเภอ – ตำบล – หมู่บ้าน   ให้รีบส่งตัวไปอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของโรงพยาบาลศูนย์ฯ หรือโรงพยาบาลทั่วไปในระดับจังหวัด  รวมทั้งจัดเตรียมยาต้านไวรัสให้เพียงพอที่จะแจกจ่ายไปให้โรงพยาบาลชุมชนในระดับอำเภอ  และโรงพยาบาลทั่วไปในระดับจังหวัดทุกแห่งที่มีอุบัติการของโรค