You are currently viewing บินอย่างปลอดภัยในผู้ป่วยหอบหืด

บินอย่างปลอดภัยในผู้ป่วยหอบหืด

นายแพทย์เปี่ยมศักดิ์  ประกาศวุฒิสาร อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ

โรงพยาบาลกรุงเทพ

โรคหอบหืดเป็นภาวะหลอดลมตีบอันเกิดจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้  ภาวะหลอดลมตีบทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอกและหายใจเสียงดังวี๊ดเป็นๆหายๆ อย่างไรก็ตามถ้าได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องก็จะสามารถควบคุมอาการของโรคได้เป็นอย่างดีอันทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ

ในบางสภาวะ เช่น ที่สูง, อากาศหนาว, การโดยสารเครื่องบินอาจกระตุ้นให้อาการหอบหืดเกิดกำเริบขึ้นมาได้  ทั้งนี้เคยมีรายงานว่าการปีนขึ้นเทือกเขาหิมาลัยจะทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดชนิดไม่รุนแรงกลับมีอาการหอบเหนื่อยอย่างรุนแรงเกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการอยู่ในที่ระดับสูงก็จะทำให้สมรรถภาพของปอดลดลงได้เป็นอย่างมาก เป็นต้น

การโดยสารเครื่องบินก็อาจทำให้อาการหอบหืดกำเริบได้ถึงแม้จะบินในเครื่องบิน AIRBUS A380หรือ BOEING 777ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการบินและสามารถปรับความดันบรรยากาศในห้องโดยสารได้แล้วก็ตาม  ทั้งนี้เพราะอากาศในห้องโดยสารของเครื่องบินมักมีปริมาณออกซิเจนต่ำและแห้งกว่าปกติซึ่งจะกระตุ้นให้อาการหอบเกิดกำเริบขึ้นมาได้  โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคหอบหืดที่สามารถเดินได้ไกล 50 เมตร หรือขึ้นบันได 2 ชั้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีอาการหายใจลำบากก็มักสามารถเดินทางโดยสารเครื่องบินได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตามมีรายงานจากสายการบิน British Airwaysว่าผู้ป่วยโรคหอบหืดเหล่านี้อาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจในขณะบินได้ถึง5.6%อยู่ดี

ดังนั้นผู้ป่วยโรคหอบหืดทุกรายที่ต้องการโดยสารเครื่องบินควรพกยาพ่นขยายหลอดลมและยาสเตียรอยด์พ่นติดตัวไปด้วยเสมอ  ทั้งนี้ควรมีการติดสลากยาที่ข้างหลอดให้ชัดเจนรวมทั้งอาจต้องนำยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานไปด้วยเพื่อให้สะดวกและเข้าใจได้ง่ายต่อการใช้ทั้งต่อตนเองและผู้พบเห็นเพื่อทำการช่วยเหลือในกรณีหอบฉุกเฉินต่อไป  หากมีอาการหอบขณะอยู่บนเครื่องบินนั้น ผู้ป่วยก็สามารถใช้ยาพ่นขยายหลอดลม2 – 4 สูดได้ในทันทีแทบจะทุก15นาทีจนกว่าอาการหอบจะหายไป   ในบางกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องพ่นยาละอองฝอยก็สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยบนเครื่องบิน   อย่างไรก็ตามถ้าอากาศในเครื่องบินหนาวมากก็ควรทำให้น้ำเกลือหรือน้ำยาที่ใช้พ่นผ่านเครื่องพ่นละอองฝอยให้มีอุณหภูมิอุ่นขึ้นเล็กน้อยก่อนนำมาใช้สูดดม 

            อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ควรโดยสารเครื่องบินอันได้แก่  ผู้ที่มีอาการหอบหืดขั้นรุนแรงซึ่งยังควบคุมอาการไม่ได้ หรือผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากอาการหอบกำเริบที่รุนแรงจนต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมาไม่นาน  นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคหอบหืดที่เดินทางไปไกลด้วยเครื่องบินก็ควรนำบัตรประกันสุขภาพติดตัวไปด้วยเสมอ เพื่อว่าเมื่อเกิดอาการหอบกำเริบที่รุนแรงจนต้องได้รับการรักษาในต่างแดนก็จะได้ไม่จำเป็นต้องควักกระเป๋าของตนเองไปเพื่อใช้จ่ายในค่ารักษาพยาบาลอย่างสิ้นเปลือง

            สุดท้ายนี้ผู้เขียนก็ขอให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดทุกท่านเดินทางโดยสารเครื่องบินได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขโดยสวัสดิภาพถ้วนทั่วทุกท่าน…..นะครับ