You are currently viewing โรค COPD

โรค COPD

แม้โรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคซีโอพีดี (COPD : Chronic Obstructive Pulmonary Disease) ไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ หากแต่ยังมีหนทางดูแลรักษาหลากหลายวิธีที่จะทำให้อาการดีขึ้น กำเริบน้อยลง ชะลอการถดถอยของสมรรถภาพปอด และมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นอย่างมีคุณภาพ

บางครั้งก็เรียกว่าโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เนื่องด้วยจุดเริ่มต้นของโรคเกิดจากการสูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน ควันบุหรี่สารพัดสารพิษไปทำลายเนื้อเยื่อปอด นอกจากนี้การสูดหายใจเอามลพิษในรูปของก๊าซหรือฝุ่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งแต่ไม่รุนแรงเท่าควันบุหรี่ และมีเพียงส่วนน้อยที่เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดจากการขาดเอนไซม์ [โรคถุงลมโป่งพอง(COPD)]

สิงห์อมควันทุกคนมีสิทธิเป็นโรคน่ากลัวนี้ ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการสูบ และปริมาณการตอบสนองของร่างกายต่อควันบุหรี่ รวมทั้งพันธุกรรม เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ หรือบิดา มาราดาเป็นโรคนี้อยู่แล้ว

ข่าวดี คือ หากหันหลังให้บุหรี่สำเร็จ อาจปิดทางไม่ให้โรคมาเยี่ยมเยียนได้ หากมีอาการระยะเริ่มแรก นั่นคือเริ่มมีการอุดกั้นของหลอดลม คนส่วนใหญ่ไม่ทันเอะใจ เพราะอาการไม่ค่อยปรากฏชัดนัก

อาการโรคถุงลมโป่งพอง เด่นชัดในขั้นต่อๆ มา คือ คออักเสบ ไอเรื้อรัง มีเสมหะ หลอดลมอักเสบบ่อยและหายยาก เป็นหวัดง่าย ต่อมาจะหอบเหนื่อย หายใจมีเสียง หายใจลำบากเพราะหลอดลมตีบขึ้น

ความทุกข์ทรมานและรุนแรงมากที่สุดของโรคนี้คือ อาการหอบเหนื่อยมากกระทั่งไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ จำเป็นต้องพึ่งออกซิเจนตลอดเวลา เพราะมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ข่าวร้ายคือ คนส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม และหัวใจวาย โดยข่าวร้ายที่สุดคือ รักษาไม่หายขาด ได้แต่พยุงอาการให้ดีขึ้น และปอดถูกทำลายช้าลงด้วยยา เช่น ยาขยายหลอดลม เพื่อบรรเทาอาการหืดหอบ ยาสเตียรอยด์และยาปฏิชีวนะต้านการอักเสบ และยาละลายเสมหะ

วิธีป้องกันโรคถุงลมโป่งพอง คือต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือหยุดบุหรี่ พูดง่ายแต่ทำยาก…หลายคนบ่นเป็นเสียงเดียวกัน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทำงานหรือเข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีควันพิษ แม้โรคจะสำแดงฤทธิ์เมื่ออายุมาก แต่ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคควรไปรับการตรวจสมรรถภาพปอด หากโชคดีพบโรคในระยะเริ่มแรกจะได้กลับลำทัน แต่ถ้าโชคไม่เข้าข้างเคล็ดลับต่อไปนี้จะช่วยให้ชีวิตทุกข์น้อยหน่อย เริ่มจาก

ปฏิวัติรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ หยุดบุหรี่อย่างถาวร ยาอดบุหรี่ช่วยได้มากหากจิตใจไม่แข็งแรงพอ และอยู่ให้ไกลจากฝุ่นควันหรือสารเคมีกลิ่นฉุน หลอดลมอาจตีบเฉียบพลันได้

สำหรับอาหาร เลือกกินโปรตีนให้มากขึ้น ซึ่งช่วยสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ พูดง่ายๆ คือ ทำให้สมรรถภาพร่างกายดีขึ้น โดยเลือกโปรตีนที่มีคุณภาพสูง อย่างเช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อปลา เป็ด ไก่ และไข่ขาว เลือกกินไขมันที่ดี อาทิ ไขมันจากปลาที่มีกรดโอเมกา-3 มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด และน้ำมันมะกอก กินผักหลากชนิด หลากสี ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมาย แถมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์ให้ถูกทำร้ายน้อยลง ดื่มน้ำให้มาก เพื่อละลายความเหนียวหนืดของเสมหะ เลี่ยงเครื่องดื่มผสมน้ำตาลตัวการน้ำลายเหนียว ออกกำลังกายไม่ให้ขาด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคด้วย ปลอดภัยไว้ก่อนแน่นอนกว่า ด้วยการยืดเส้นยืดสายของกล้ามเนื้อก่อนทุกครั้ง เน้นพิเศษที่กล้ามเนื้อช่วยหายใจ เช่น กล้ามเนื้อคอ ไหล่ รอบสะบัก และหน้าอก ตามด้วยการบริหารกล้ามเนื้อคอ ไหล่ แขน โดยหมุนคอไปรอบๆ หมุนไหล่ แกว่งแขน หรือยกเวตเบาๆ การเดินเร็ววันละ 20 นาที หรือจะเพิ่มเวลาตามกำลังวังชาของคุณก็ไม่ผิดกติกา โดยเริ่มที่ 10 นาทีก่อนในครั้งแรก หากเหนื่อยเกินไปก็ให้เปลี่ยนมาเดินช้าๆ แล้วอย่าลืมจดบันทึกด้วยว่าความสามารถในการออกกำลังของตนเองเป็นเช่นไร ดีขึ้นหรือแย่ลง

นอกจากนี้ควรบริหารลมหายใจเพื่อจะได้ไม่เหนื่อยง่ายด้วยการหายใจเข้า – ออกลึกๆ ด้วยกล้ามเนื้อซี่โครงและกะบังลม ขณะที่การห่อปากขณะหายใจจะช่วยให้เกิดแรงดันในหลอดลม ป้องกันไม่ให้หลอดลมแฟบปิดง่าย เป็นการระบายลมที่ขังออก ทีนี้เวลาหายใจก็จะไร้เสียง ผลดีของการออกกำลังกายไม่เพียงแต่ช่วยให้หัวใจ กล้ามเนื้อและการหายใจสะดวกเท่านั้น แต่ยังทำให้นอนหลับสบายอีกต่างหาก หากิจกรรมบรรเทาเครียดทำบ้างก็ดีครับ ทั้งผ่อนคลาย และบริหารสมองไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังทำให้รู้สึกมีคุณค่า ช่วยป้องกันอารมณ์ซึมเศร้าได้ชะงัดนัก สุดท้ายคือไม่ปล่อยให้ตัวเองอ้วนหรือผอมเกินไป อ้อ อย่าลืมหมั่นเติมกำลังใจให้ตัวเองและขอแบ่งจากคนรอบข้าง พร้อมกับชูสองนิ้ว…สู้ๆ ครับ